เกี่ยวกับโครงการ

Strengthening SMEs in mitigating and adapting to climate change

เกี่ยวกับโครงการ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นับเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ในทุกภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยเหตุนี้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ร่วมกับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการศึกษาให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ทั้งในด้านเทคนิค เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change) หรือ อนุสัญญา UNFCCC จึงได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2535 และเปิดให้รัฐภาคีลงนามในอีกหนึ่งเดือนต่อมาระหว่างการประชุม United Nations Conference on Environment and Development (UNCED) หรือที่รู้จักกันในนามของ Earth Summit ณ นครริโอเดอ-จาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล โดยอนุสัญญา UNFCCC มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 21 มีนาคม 2537 ปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมรวมทั้งสิ้นจำนวน 197 ประเทศ (ณ วันที่ 1 มกราคม 2559) ประเทศไทยได้ให้สัตบาบันเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 และส่งผู้แทนประเทศเข้าร่วมการประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาฯ (Conference of the Parties) หรือ COP ตลอดมา ในภายหลังได้มีข้อตกลงระหว่างประเทศอีกหลายฉบับที่ส่งผลต่อประเทศต่างๆ ตามมา อาทิ พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ข้อแก้ไขโดฮา (Doha Amendment to the Kyoto Protocol) และความตกลงปารีส (ประเทศไทยให้สัตยาบันในความตกลงปารีสเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559) ทั้งนี้ ในข้อ 4 ของความตกลงปารีสได้กำหนดให้แต่ละภาคีต้องจัดทำ แจ้ง และจัดให้มีการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally determined contributions: NDCs) อย่างต่อเนื่อง โดยแจ้งทุกๆ 5 ปี ซึ่งประเทศไทย ได้นำส่ง NDCs ฉบับแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2558 โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 จากปริมาณการปล่อยก๊าซในกรณีปกติ (Business As Usual; BAU) ภายในปี 2573 และจะสามารถลดการปล่อยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ภายใต้กลไกการสนับสนุนต่างๆ จาก UNFCCC

ในปี 2557 IPCC ได้รายงานในรายงานการประเมินสถานการณ์ฉบับที่ 5 ว่าประเทศไทยรวมถึงประเทศในกลุ่ม ASEAN มีแนวโน้มความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับสูง โดยใน 10 อันดับประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีประเทศในภูมิภาคอาเซียนถึง 4 ประเทศ ได้แก่ พม่า ฟิลิปินส์ เวียดนาม และไทย ที่ผ่านมาประเทศในกลุ่มอาเซียนเผชิญกับภัยภิบัติทางธรรมชาติมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง ดินถล่ม พายุต่างๆ ซึ่งนับวันก็จะทวีความรุนแรงและมีแนวโน้มของความถี่ที่สูงขึ้น ภัยภิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ พายุไซโคลนนากิซถล่มประเทศพม่าในปี 2551 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 90,000 ราย มีผู้สูญหายกว่า 44,000 ราย ก่อให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2552 ประเทศอิโดนีเซียประสบกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดสูงกว่าในปี 2559 และต้นปี 2561 ที่ผ่านมาที่ทำให้ผู้คนหลายพันคนต้องอพยพหนีน้ำท่วมและดินไหล หรือในประเทศฟิลิปปินส์ซึ่เป็นประเทศที่รับจำนวนพายุสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในปี 2549 ประเทศฟิลิปปินส์ประสบกับภัยธรรมชาติจากพายุไซโคลน Durian ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 130 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งพายุดังกล่าวก็ขึ้นฝั่งไปทำให้เกิดความเสียหายและมีผู้เสียชีวิตในประเทศเวียดนามอีกกว่า 70 ราย ในส่วนของประเทศไทย ในปี 2554 ประเทศไทยตอนบนและตอนกลางประสบกับปัญหาน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ส่งผลให้เกิดการชะงักตัวของเศรษฐกิจและเกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมหลายประเภท

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs (Small and Medium Enterprises) มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยในแง่การจ้างงาน เป็นแหล่งฝึกอาชีพ เป็นหน่วยเชื่อมโยงกับกิจการขนาดใหญ่ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบในประเทศ รวมทั้งสร้างรายได้ให้ประเทศโดยเฉพาะภาคการผลิตเพื่อการส่งออก โดยในปี 2559 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รายงานจำนวนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมทั้งหมด 3,004,679 ราย คิดเป็นร้อยละ 99.7 เมื่อเทียบกับวิสาหกิจทั้งหมดของประเทศ โดยมีการกระจายตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 25 ภาคกลางร้อยละ 21 กรุงเทพมหานครร้อยละ 18 ภาคเหนือร้อยละ 17 ภาคใต้ร้อยละ 13 และภาคตะวันออกร้อยละ 6 โดยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 11.398 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.4 ของ GDP ประเทศ โดยมูลค่าการส่งออกของ SMEs มีมูลค่าเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.0 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และมีมูลค่าการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนร่อยละ 35.5 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

ภัยธรรมชาติอันเนื่องมาจากการเปลี่นแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนแล้วยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมโดยทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ทำให้สินค้าหรือทรัพย์สินของกิจการเสียหาย ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาวได้ นอกจากนี้วิสาหกิจและภาคธุรกิจต่างๆ ยังมีความเสี่ยงของธุรกิจในด้านอื่นๆ ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีก อาทิ ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตลาด ความเสี่ยงทางด้านการเงิน หรือความเสี่ยงต่อการผันผวนทางเศรษฐกิจ การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งในด้านของการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดอัตราการเกิดและความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในด้านของการปรับตัวรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถฟื้นตัวได้เร็วหรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้เพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจของไทยในอนาคต

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาของไทย มีวิสัยทัศน์ในการบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อสร้างสังคมนวัตกรรมอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2506 และได้ทำการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องในหลายๆ ด้าน ทั้งในด้านอาหาร เกษตร เภสัชกรรม บรรจุภัณฑ์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวาระของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น วว. ได้ทำการวิจัยพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีเทคโนโลยีที่มีความพร้อมในทุกระดับตั้งแต่ในระดับวิจัยจนถึงการออกสู่เชิงพาณิชย์ อาทิ เทคโนโลยีการผลิตไบโอก๊าซ การจัดการขยะชุมชนอย่างยั่งยืน การผลิตไบโอดีเซล การผลิตไบโอเมทานอล การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยสาหร่าย การจัดทำแผนการบริหารจัดการพื้นที่ต่างๆ อาทิ อุทยานแห่งชาติ พื้นที่แรมซาร์ไซต์ และการจัดทำมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อตอบสนองต่อ NDCs ที่ได้นำเสนอตามข้อตกลงปารีส รวมไปถึงการประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยรวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยเช่นกัน
1. เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย

2. เพื่อสร้างศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย

3. เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย

4. เพื่อเป็นต้นแบบในการลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อการประยุกต์ใช้กับประเทศในภูมิภาคอาเซียน
การดำเนินการศึกษาโครงการประกอบไปด้วยองค์ประกอบของงาน 5 ส่วน ได้แก่

1. การดำเนินการเก็บรวมรวม วิเคราะห์ข้อมูล และจำแนกข้อมูลประเภทและความเสี่ยงจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

2. การจัดทำแนวทางการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวและรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในรูปแบบของ Tools หรือ Guidelines

3. การสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยจัดกิจกรรมในรูปแบบของการเผยแพร่ข้อมูลด้วยสื่อดิจิทัล และการจัดประชุมสัมมนา

4. การเสริมสร้างศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการนำแนวทางที่ได้จัดทำมาเผยแพร่ให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในลักษณะของการเผยแพร่ทางสื่อดิจิทัล และการจัดประชุมสัมมนา
1. ความตระหนักรู้ของภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในด้านของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือในการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

2. ศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการปรับตัวและรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกในเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว